วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2550


เพลงลูกทุ่ง คือเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศ ความเป็นลูกทุ่ง
ขุนวิจิตรมาตราบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องของละครและเพลง ว่าเพลงลูกทุ่งเป็นวงดนตรีแบบสากลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปีหรือสองปี ลักษณะเพลงลูกทุ่งในระยะเริ่มแรก มาจากการร้องรำทำเพลงของไทยดั้งเดิม อาทิ แหล่เทศน์ สวดคฤหัสถ์ จำอวด ลิเก (ทรงเครื่อง) ลิเกลูกหมด (ไม่แต่งเครื่อง) ลิเกบันตน ลำตัด เพลงขอทาน เพลงพื้นเมืองบางเพลง ฯลฯ โดยเพลงลูกทุ่งนำมาดัดแปลงแล้วใส่ดนตรีแบบสากล เป็นลักษณะเพลงแบบใหม่

ประวัติ
ต้นตระกูลเพลงของไทยก็คือ เพลงมีเนื้อร้องแบบกลอนแปด สลับกับการเอื้อนทำนอง แต่ละเพลงจะมีความต่อเนื่องเป็นเพลงเถา ตับ ชั้น เช่น 2 ชั้น 3 ชั้น ฯ และมีความยาวพอสมควร เพลงมักจะเริ่มจากช้าไปหาเร็ว ต่อมาเพลงได้ถูกพัฒนา เป็นเพลงประกอบรำจนถึงเข้าเรื่องละคร และเนื่องจากมีความยาวเกินไปจึงพัฒนาให้กระชับลง โดยใส่คำร้องในทำนองเอื้อน เรียกว่า เนื้อเต็ม นาฏกรรมจากวรรณคดี เช่น โขน ละครร้องของเจ้านายในราชสำนัก ได้รับความนิยมในหมู่เจ้านายวังหน้า วังหลัง หรือนอกวัง การแสดงแบบคลาสสิค ก็ถูกปรับให้เข้ากับชาวบ้านจากโขน ละคร มาเป็นหนังสด ลิเก

บริบท
ในยุคแรกๆยังไม่มีการแยกประเภทเพลงไทยสากลออกเป็นลูกทุ่งและลูกกรุง ถือว่าเป็นเพลงกลุ่มเดียวกัน มีนักร้องเพลงไทยสากลได้ร้องเพลงประเภทที่มีสาระบรรยายถึงชีวิตชาวชนบท หนุ่มสาวบ้านนา และความยากจน โดยรู้จักกันในชื่อ "เพลงตลาด" หรือ "เพลงชีวิต" โดยส่วนใหญ่นักร้องเพลงตลาดหลายท่านจะประพันธ์เพลงเองด้วย อาทิ ไพบูลย์ บุตรขัน ชะลอ ไตรตรองสอน พยงค์ มุกดา มงคล อมาตยกุล เบ็ญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ) สุรพล สมบัติเจริญ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนวงดนตรีที่เด่น ๆ ของเพลงแนวนี้ได้แก่ วงดนตรี "จุฬารัตน์" ของมงคล อมาตยกุล วงดนตรี "พยงค์ มุกดา" และ วงดนตรี "สุรพล สมบัติเจริญ" นับได้ว่าวงดนตรีทั้งสามนี้เป็นแหล่งก่อกำเนิดแยกตัวเป็นวงดนตรีเพลงลูกทุ่งจำนวนมากในเวลาต่อมา
ในระยะแรกยังไม่เรียกกันว่า "นักร้องลูกทุ่ง" นักร้องชายที่รู้จักชื่อเสียงกันดี เช่น คำรณ สัมบุณณานนท์ ชาญ เย็นแข นิยม มารยาท ก้าน แก้วสุพรรณ ชัยชนะ บุญนะโชติ ทูล ทองใจ ฯลฯ ส่วนนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงเด่น ได้แก่ ผ่องศรี วรนุช ศรีสอางค์ ตรีเนตร
เพลงลูกทุ่งเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่ ประกอบ ไชยพิพัฒน์ นักจัดรายการเพลงทางสถานีไทยโทรทัศน์ ได้ตั้งชื่อรายการว่า "เพลงลูกทุ่ง" เมื่อปลายปี พ.ศ. 2507 และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 มีการจัดงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในครั้งที่สอง ได้มีการมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในฐานะนักร้องลูกทุ่งชายยอดเยี่ยม โดย สมยศ ทัศนพันธ์ ได้รับรางวัลจากเพลง "ช่อทิพย์รวงทอง"

เพลงลูกทุ่งยุคแรก
สุรพล สมบัติเจริญ ได้ทำให้เพลงลูกทุ่งอยู่ในความนิยม ด้วยเอกลักษณ์ ลีลา และ รูปแบบเฉพาะตัว อีกทั้งยังแต่งเพลงร้องเองเป็นส่วนใหญ่ เขาเริ่มชีวิตการร้องเพลงจากกองดุริยางค์ทหารอากาศ

ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง
ในช่วงปี พ.ศ. 2513–2515 มีการแข่งขันระหว่างเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งสูง ทั้งนี้ในวงการเพลงลูกทุ่งเองก็มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง นักแต่งเพลงพยายามสร้างเอกลักษณ์ประจำตัวของนักร้องแต่ละคน นักร้องเพลงลูกทุ่งบางคนก็ไปแสดงภาพยนตร์ บางคนถึงกับเล่นเป็นตัวเอกโดยเฉพาะในภาพยนตร์เพลง ภาพยนตร์บางเรื่องนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบเป็นเพลงเอก อย่างเช่นเรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งแสดงนำโดยพระเอกขวัญใจในยุคนั้นคือ มิตร ชัยบัญชา เพลงเอกชื่อเดียวกับภาพยนตร์ประพันธ์โดย ไพบูลย์ บุตรขัน ส่วนนักร้องเพลงลูกทุ่งที่ร่วมแสดงด้วย ได้แก่ บุปผา สายชล โดยขับร้องเพลงดังในภาพยนตร์ชื่อ ยมพบาลเจ้าขา
หลังจากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ทำให้มีการสร้างภาพยนตร์โดยมีการแสดงเพลงลูกทุ่งประกอบอีกหลายเรื่อง อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคของภาพยนตร์เพลงลูกทุ่ง นักร้องที่เกิดจากภาพยนตร์แนวนี้และโด่งดังสุดขีดในวงการเพลงลูกทุ่งต่อมา ได้แก่ สังข์ทอง สีใส โดยเป็นผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องโทน และแสดงคู่กับพระเอกไชยา สุริยัน นักร้องคนอื่น เช่น ระพิน ภูไท เสกศักดิ์ ภู่กันทอง ศรคีรี ศรีประจวบ สมัย อ่อนวงศ์ พนม นพพร ยุพิน แพรทอง ชาตรี ศรีชล กาเหว่า เสียงทอง กังวานไพร ลูกเพชร ฯลฯ ส่วนนักแต่งเพลงที่ประสบความสำเร็จในช่วงนี้ก็มีไม่น้อย อาทิ กานท์ การุณวงศ์ ฉลอง ภู่สว่าง ช. คำชะอี พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา สุรินทร์ ภาคศิริ ฯลฯ

ยุคแห่งการแข่งขัน
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ในวงการเพลงเกิดวงดนตรีแนวที่เรียกว่า "เพลงเพื่อชีวิต" ส่วนเพลงลูกทุ่งก็อยู่ในยุคเพลงเพื่อชีวิตเช่นกัน เนื้อหาเพลงลูกทุ่ง ได้สอดแทรกเนื้อหาเพลงเพื่อชีวิต โดยในยุคนั้นมีเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตเป็นจำนวนมาก นักร้องเพลงลูกทุ่งมักกล่าวถึงชีวิตชนบทและความยากจนค่นแค้นอยู่แล้ว เนื้อหาจะเน้นปัญหาชาวไร่ชาวนาและกรรมกรให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น เพลงลูกทุ่งในยุคนั้นเช่น เพลงข้าวไม่มีขาย หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เสียนาเสียนาง เราคนจน โอ้ชาวนา ฯลฯ
ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2516–2519 ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเพลงลูกทุ่ง คือ การร้องเพลงล้อเลียนการเมือง เพลงเหล่านี้มักเป็นการร้องเพลงลูกทุ่งผสมบทพูด แฝงแง่คิดหรือการวิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างคมคาย และสร้างความบันเทิงขำขันให้แก่ผู้ฟัง ผู้ที่แต่งเพลงแนวนี้ไว้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ สงเคราะห์ สมัตถภาพงษ์ ซึ่งส่วนใหญ่ขับร้องโดย เพลิน พรหมแดน ตัวอย่างเช่น เพลงกำนันผันเงิน พรรกระสอบหาเสียง ฯลฯ นักแต่งเพลงท่านอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จสูงในยุคนี้ได้แก่ ชลธี ธารทอง ธงชัย เล็กกำพล โผผิน พรสุพรรณ สดใส ร่มโพธิ์ทอง กู้เกียรติ นครสวรรค์
นักแต่งเพลงส่วนใหญ่จะแต่งเพลงส่วนใหญ่ให้กับนักร้องเป็นรายบุคคลไป ส่วนนักร้องมักมีวงดนตรีของตนเอง ตลอดจนผลิตแผ่นเสียงหรือบันทึกเทปจำหน่ายเอง นักร้องที่มีชื่อเสียงในช่วงนี้ได้แก่ สายัณห์ สัญญา ศรเพชร ศรสุพรรณ สัญญา พรนารายณ์ บานเย็น รากแก่น น้ำอ้อย พรวิเชียร ฯลฯ เป็นต้น
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เพลงลูกทุ่งแนวเพื่อชีวิตก็ซาลง บทเพลงมีเนื้อหากลับมาบรรยายเรื่องของความรัก ความเศร้า และความงามของสาวชาวไร่ชาวนาเช่นเดิม เช่น เพลงรักสาวชาวไร่ น้ำตาชายเหนือ สิ้นทางรัก ฯลฯ และยิ่งเมื่อเศรษฐกิจพัฒนารุดหน้ามากขึ้น ก่อให้เกิดการย้ายถิ่นฐานประกอบอาชีพของชาวชนบทเข้าสู่เมืองหลวง บทเพลงลูกทุ่งสะท้อนชีวิตและปัญหาของบุคคลเหล่านี้ซึ่งประกอบอาชีพเป็นสาวใช้ สาวบาร์ หมอนวด กรรมกร ลูกจ้าง ตลอดจนไปขายแรงงานในกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น เพลงฉันทนาที่รัก พาร์ทเนอร์เบอร์ห้า สาวโรงทอรอรัก หนุ่มกระเป๋า ไอ้หนุ่มรถตุ๊กตุ๊ก ฯลฯ

เพลงลูกทุ่งยุคเพลงเพื่อชีวิตและการเมือง
ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2520–2528 เป็นช่วงที่เกิดนักร้องทั้งลูกทุ่งลูกกรุงจำนวนมาก มีการแข่งขันสูงมาก การแสดงเพลงลูกทุ่งมีการประกวดประชันการเต้นและเครื่องแต่งกายของหางเครื่องประกอบด้วย วงดนตรีเพลงลูกทุ่งได้เข้าสู่ระบบทุนมากขึ้น นักแต่งเพลงแนวลูกทุ่งในช่วงเวลานี้ เช่น ชลธี ธารทอง ฉลอง ภู่สว่าง คัมภีร์ แสงทองวิเชียร คำเจริญ ชัยพร เมืองสุพรรณ สุชาติ เทียนทอง ชวนชัย ฉิมพะวงศ์ ดอย อินทนนท์ ดาว บ้านดอน ฯลฯ
นักร้องชายที่อยู่ในความนิยม เช่น สายัณห์ สัญญา เกรียงไกร กรุงสยาม สุรชัย สมบัติเจริญ ยอดรัก สลักใจ ศรชัย เมฆวิเชียร ศรเพชร ศรสุพรรณ พร ไพรสณฑ์ ฯลฯ
นักร้องเพลงลูกทุ่งหญิงที่ได้รับการขนานนามว่าราชินีลูกทุ่งในยุคนี้คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องหญิงที่ได้รับความนิยมนอกจากพุ่มพวงได้แก่ นันทิดา แก้วบัวสาย ดาวใต้ เมืองตรัง หงษ์ทอง ดาวอุดร สดศรี พรหมเสกสรร อ้อยทิพย์ ปัญญาธรณ์ ฯลฯ
ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา เกิดแฟชั่นการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องแนวสตริง ซึ่งการแสดงแบบนี้แพร่หลายเข้ามาในวงการเพลงลูกทุ่งด้วย พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ตได้รับความนิยมอย่างสูง จัดขึ้นประมาณกลางปี พ.ศ. 2529 ที่เซ็นทรัลพลาซ่า ในขณะที่เพลง กระแซะ ของเธอมีความโด่งดังอย่างมาก

ปรากฏการณ์ใหม่ในวิวัฒนาการของเพลงลูกทุ่ง
ในปัจจุบัน มีศิลปินลูกทุ่งหน้าใหม่เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งของค่ายเพลงหน้าใหม่ ตลาดเพลงลูกทุ่งเป็นตลาดใหญ่ เพลงลูกทุ่งได้รับความนิยมอีกครั้ง เนื่องมาจาก ได้มีการทำละครมนต์รักลูกทุ่งของอาร์เอส และฮิตติดตลาด ต่อมากับการกลับเข้ามาแจ้งเกิดของ ก๊อด จักรพรรณ์ อาบครบุรี กับคัพเวอร์ อัลบั้ม เพลงลูกทุ่งชุดสองที่เรียกเสียงกรี๊ดจากบรรดาแม่ยก และกลุ่มนักฟังเพลงรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ และการเกิดขึ้นของเพลงลูกทุ่งในคลื่นเอฟเอ็ม นำทีมบริหารโดย วิทยา ศุภพรโอภาส
ในยุคก่อนเพลงลูกทุ่งจะเปิดเฉพาะในคลื่นเอเอ็มเท่านั้น ในปัจจุบันทีวีก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เกมโชว์เอานักร้องเพลงลูกทุ่งไปเล่น ภาพยนตร์ ละครเอาลูกทุ่งไปเล่น และกลายเป็นธุรกิจกลุ่มใหญ่ขึ้น
ครูเพลงบางคนถึงกับกล่าวว่า เพลงลูกทุ่งในสมัยนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะขาดเอกลักษณ์ของการขึ้นต้น เรื่องราวตรงกลาง และตอนจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดสัมผัสนอก-ใน ตลอดจนการเปรียบเทียบ

เพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน

นักร้องลูกทุ่ง องค์ประกอบของเพลงลูกทุ่ง
มีเพลงลูกทุ่งหลายเพลงได้ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม ยังคงทำนองเดิมแต่ตัดการเอื้อนแบบเพลงไทยเดิมออกและใส่คำร้องลงไปแทนที่ ส่วนทำนองที่มาจากเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่งมีมาจากทุกภาค จากภาคกลางมีทำนองเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงลำตัด เพลงกลองยาว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ ภาคอีสานจะมาจากทำนองเพลงลำหรือหมอลำและเซิ้ง ทำนองลำที่นิยมในเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ ลำเต้ย ลำเพลิน ลำสารวัน ส่วนทำนองเพลงเซิ้งนิยมเป็นเซิ้งบ้องไฟ
ทำนองจากการขับร้องลิเกและทำนองเพลงแหล่นับเป็นทำนองที่เพลงลูกทุ่งนำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง การใช้ทำนองเพลงลิเกซึ่งเป็นมหรสพพื้นบ้านเก่าแก่ของไทยมักไม่ใช้ทำนองเพลงลิเกโดด ๆ แต่จะนำมาผสมกับทำนองเพลงสากลด้วย ส่วนทำนองเพลงแหล่ซึ่งใช้ในการแสดงธรรมเทศนาของไทยเรานั้น เพลงลูกทุ่งนำมาใช้ในสองลักษณะ คือ ใช้ทำนองเพลงแหล่ตลอดทั้งเพลง และใช้ทำนองแหล่ผสมกับทำนองลิเกหรือกับทำนองเพลงสากล นักร้องเพลงลูกทุ่งที่ร้องเพลงทำนองแหล่ที่รู้จักกันดีได้แก่ พร ภิรมย์ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และชินกร ไกรลาศ นับตั้งแต่พร ภิรมย์ เข้าสู่สมณเพศแล้วก็คงเหลือแต่ไวพจน์และชินกรเท่านั้นที่มีชื่อเสียงในการร้องเพลงทำนองแหล่มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ทั้งสองท่านยังมีชื่อเสียงด้านทำขวัญนาคอีกด้วย
การโห่ เป็นลักษณะอีกประการหนึ่งที่พบได้บ่อยครั้ง มีทั้งการโห่แบบไทยและการโห่แบบตะวันตก การโห่แบบไทยปรากฏในเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงการบวชนาค การแห่ขันหมาก เป็นการโห่ประกอบขบวน จะร้องว่า "โห่……. (ฮิ้ว)" การโห่แบบนี้อาจพบในเพลงที่กล่าวถึงการแห่วงดนตรีด้วย ซึ่งเพลงลูกทุ่งนิยมกล่าวถึงวงดนตรีของตน เช่น รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้องโห่ในเพลงยกพลรุ่งเพชร
"โห่โดรีโฮ" การโห่แบบนี้ในเพลงลูกทุ่งแสดงถึงอิทธิพลจากเพลงลูกทุ่งตะวันตกซึ่งมีการโห่ การผิวปาก และการกู่ตะโกน ทำให้นึกถึงหนุ่มโคบาลหรือคาวบอยในทุ่งหญ้า เพลงลูกทุ่งไทยใช้การโห่แบบตะวันตกกับบทเพลง ที่ชื่นชมบรรยากาศความงามและความสงบของธรรมชาติท้องทุ่งเช่นเดียวกัน เพลงเหล่านี้สร้างบรรยากาศสนุกสนาน
นอกจากนี้ผู้แต่งเพลงลูกทุ่งบางท่านรับเอาทำนองเพลงต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำนองเพลงของชาติในเอเซียที่เกี่ยวข้องหรือคุ้นเคยกับคนไทย เช่น จีน อินเดีย ลาว ญี่ปุ่น เกาหลี

ทำนองและจังหวะ
ในแง่การใช้ภาษา ภาษาที่ใช้ในเพลงลูกทุ่งมีทั้งที่เป็นภาษามาตรฐานและภาษาชาวบ้าน เพลงลูกทุ่งที่กล่าวถึงเรื่องราวนิทานชาดก นิทานเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตลอดจนวรรณคดีลายลักษณ์ของไทย เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ กากี พระลอ ฯลฯ เหล่านี้จะใช้ภาษามาตรฐานและคำร้อยกรอง มีความงดงามของภาษา นอกจากนี้เพลงลูกทุ่งที่ใช้ภาษาใช้ภาษาหนังสือตามแบบแผน จะมีการพรรณาชมธรรมชาติ ชีวิตอันสุขสงบในชนบท ความรักของหนุ่มสาว ความงามของสาว
เพลงลูกทุ่งโดยส่วนมากจะใช้ภาษาชาวบ้าน เนื่องจากผู้ที่ฟังเพลงลูกทุ่งมักเป็นชาวบ้านและชาวชนบท กอปรทั้งผู้แต่งเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่มักมีพื้นเพมาจากชนบท มีการศึกษาน้อย ภาษาที่ใช้ในเพลงลูกทุ่งจึงเป็นภาษาพื้น ๆ แบบชาวบ้านทั่วไป ง่ายต่อการเข้าใจ สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชาวชนบท
การร้องเพลงลูกทุ่งบางเพลงยังใช้สำร้องและศัพท์สำนวนที่เป็นของท้องถิ่น เช่น สำเนียงสุพรรณบุรี มีศัพท์และสำเนียงถิ่นภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสานครบถ้วน การขับร้องด้วยสำเนียงถิ่นต่าง ๆ นี้เป็นลักษณะเฉพาะของเพลงลูกทุ่ง เมื่อเทียบกับเพลงลูกกรุงแล้วจะเห็นชัดว่านักร้องเพลงลูกกรุงออกเสียงตรงตามวรรณยุกต์ของภาษามาตรฐาน ส่วนนักร้องเพลงลูกทุ่งมักออกเสียงเพี้ยนไปจากเสียงวรรณยุกต์ของภาษามาตรฐาน บางครั้งก็เป็นสำเนียงที่ติดมากับตัวนักร้องเอง ซึ่งบางครั้งก็เจตนาที่จะเพี้ยนเสียงเพื่อสร้างความรู้สึกให้เป็นชนบทถิ่นนั้น ๆ ตามที่ต้องการ นักร้องเพลงลูกทุ่งที่มีลีลาการร้องแบบเพี้ยนสำเนียง เช่น ชาย เมืองสิงห์ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ศรคีรี ศรีประจวบ ศรเพชร ศรสุพรรณ สายัณห์ สัญญา จีระพันธ์ วีระพงษ์ ฯลฯ เป็นต้น
ส่วนสาระของคำร้องในเพลงลูกทุ่งนั้นมีคุณค่าเกี่ยวกับสังคมไทยและวิถีชีวิตของชาวชนบทไทยอย่างกว้างขวาง เพลงลูกทุ่งสะท้อนให้เห็นความผูกพันอันแนบแน่นของชาวชนบทกับขนบธรรมเนียมประเพณี ความยึดมั่นในพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องบุญกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีรวมที่เพลงลูกทุ่งกล่าวถึง ได้แก่ สงกรานต์ เข้าพรรษา การอุปสมบท ออกพรรษา การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า ลอยกระทง การหมั้น การแต่งงาน ตลอดจนงานศพ ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ การถวายขวัญข้าว การเล่นเพลงพื้นบ้าน การเล่นกลองยาว งานบุญพระเวศ บุญบั้งไฟ งานชักพร
นอกจากสะท้อนถึงสังคมไทยและวิถีชีวิตยังมีเนื้อหาบรรยายถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติของชนบทไทย การประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ท้องทุ่ง ไร่นา แม่น้ำ ต้นไม้ สัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนสายลม แสงแดด แสงจันทร์ ดวงดาว ฯลฯ ประชากรที่กล่าวถึงในเพลงมักเป็นชาวชนบทหรือไม่ก็คนยาก คนจน บรรยายถึงความรัก การประกอบอาชีพ ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การแต่งกาย การบริโภคอาหาร สิ่งบันเทิง และในบางครั้งเพลงลูกทุ่งสะท้อนถึงระบบความเชื่อ และระบบค่านิยมของประชากรเหล่านี้ อาทิ ความเชื่อในไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ค่านิยมเกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ค่านิยมเชิงวัตถุในเรื่องความร่ำรวยและทรัพย์สมบัติ ค่านิยมในฐานันดรภาพและอำนาจ ค่านิยมในชีวิตเมืองกรุง ค่านิยมเรื่องอบายมุขและสตรี และเป็นที่น่าสังเกตว่าภาพพจน์ของสตรีในเพลงลูกทุ่งไม่งดงามทันสมัยนัก สตรีมักถูกประณามเมื่อเสียพรหมจรรย์หรือถูกหลอกลวง ผู้ชายเห็นว่าการมีอนุภรรยาเป็นเรื่องโก้เก๋
เพลงลูกทุ่งบางเพลงยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นปัญหาในแง่มุมต่าง ๆ อันสืบเนื่องมาจากความยากจนและสภาวะธรรมชาติ เช่น สภาพนาแล้ง นาล่ม ภาวะหนี้สิน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การเอารัดเอาเปรียบของนายทุนเงินกู้และพ่อค้าคนกลาง ฯลฯ สาระต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาพฉายให้เห็นปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการกระจายรายได้ซึ่งยังคงเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย

หางเครื่อง
ได้มีการส่งเสริมเพลงลูกทุ่งด้วยการมอบรางวัลทางดนตรีอย่างรางวัลมาลัยทอง ที่มอบเป็น ขวัญ กำลังใจ ให้คนทำงานเพลงลูกทุ่งที่มีคุณภาพ ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง

ไม่มีความคิดเห็น: